เก็บของดีไว้กันลืม

my work and play

28 December 2005

Type Two

Type Two
ลักษณะทั่วไป

แรงจูงใจ

ต้องการเป็นที่รัก แสดงความรู้สึกที่ตนมีต่อคนอื่น เป็นที่ต้องการ เป็นที่ชื่นชม ให้คนอื่นตอบสนองตน พิสูจน์ความสำคัญของตน

ความรักมีหลายแง่มุม มันจึงเป็นการยากที่จะหาคำจำกัดความ มันเป็นคำที่รวมเอาสิ่งดี ๆทั้งหลายเอาไว้ และก็มีสิ่งที่เลวอยู่ในนั้นด้วย สำหรับ "ไทป์สอง" แล้ว ความรักคือความรู้สึกที่ดี ๆที่มีให้คนอื่น การเอาใจใส่ และการอุทิศตัวเพื่อคนอื่น หรืออาจหมายถึงความผูกพันใกล้ชิด การเข้าถึงคนอื่น แน่นอนสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของนิยามรัก แต่ "ไทป์สอง" มักไม่ยอมเข้าใจด้วยว่า ความรักที่สูงส่งขึ้นไป จะมีความใกล้เคียงกับ โลกแห่งความเป็นจริง มากกว่าเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก รักแท้คือการให้สิ่งที่ดีที่สุดกับคน ๆนั้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยความบาดหมางกัน ความรักคือความปรารถนาที่จะเห็นคนที่ตนรักยืนด้วยลำแข้งของตนเองอย่างเข้มแข็ง แม้จะหมายถึงการที่ "ไทป์สอง" จะต้องเดินออกไปจากชีวิตของคนที่ตนรักด้วยก็ตาม ความรักไม่ใช้การเอาสิ่งที่คนอื่นไม่สมควรให้ ความรักอยู่เหนือ การเมินเฉย ความเห็นแก่ตัว และการทำผิด ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายกระทำ และความรักเป็นสิ่งที่ขอคืนไม่ได้ ถ้าได้สิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก

ถ้าจะเข้าใจ "ไทป์สอง" ต้องเข้าใจว่า แม้ว่าภายนอก "ไทป์สอง" จะดูเป็นฝ่ายเสนอความรัก แต่ลึก ๆแล้วพวกเขาขาดแคลนมัน "ไทป์สอง" เชื่อว่าถ้าตนรักใครมาก ๆ คน ๆนั้นก็จะรักตนตอบเอง พวกเขาจึงหยิบยื่นความช่วยเหลือให้คนอื่นตลอดเวลา และมักได้ความผิดหวังเป็นสิ่งตอบแทน สักวันหนึ่งหาเขาเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง แม้ว่าจะไม่ได้รักตอบจากคนอื่น ความรักอันนั้นจะทำให้พวกเขารู้สึกเป็นฝ่ายถูกรักได้เอง

"ไทป์สอง" เชื่อว่าความรักเป็นต้นกำเนิดของคุณธรรมที่ดีทุกอย่างในชีวิต อาจจะจริงอยู่ แต่เราจะพบนิยามรักในคนกลุ่มนี้ที่แตกต่างกันไปหลาย ๆรูปแบบ มีทั้งรักที่ประเสริฐและที่เห็นแก่ตัวอย่างที่สุด

ตัวอย่างบุคคล Mother Teresa, Archbishop Desmond Tutu, Eleanor Roosevelt, Barbara Bush, Robert Fulghum, Leo Buscaglia, Luciano Pavarotti, Barry Manilow, Richard Simmons, Sammy Davis, Jr., Pat Boone, Doug Henning, Ann Landers, Florence Nightingale, "Melanie Hamiton Wilkes" in Gone with the Wind, "Tin Woodsman" in The Wizard of Oz และ แม่ในอุคมคติของชาวยิว

กับความรู้สึก

แม้ว่า "ไทป์สอง" จะเต็มไปด้วยความรู้สึกต่อคนอื่น แต่พวกเขาก็มีปัญหากับความรู้สึกส่วนตัว พวกเขาชอบแสดงออกถึงความรู้สึกดี ๆที่มีต่อคนอื่นมากเกินพอดี และเพิกเฉยความรู้สึกในแง่ลบในเวลาเดียวกัน พวกเขามองว่าตัวเองเป็นคนที่รักคนอื่น ห่วงคนอื่น แต่บ่อยครั้ง พวกเขารักเพียงเพื่อต้องการให้คนอื่นรักตอบ ความรักของเขาไม่ได้ให้เปล่า แต่มีใบวางบิลติดมาด้วย พวกเขาฝากตัวตนไว้กับการเป็นคนที่มีความรู้สึกที่ดีกับคนอื่นแต่เพียงด้านเดียว จึงเป็นอุปสรรคให้ "ไทป์สอง" ไม่รู้จักการรักคนอื่นอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในระดับดี "ไทป์สอง" เป็นไทป์ที่เอาใจใส่คนอื่น และรักคนอื่นอย่างแท้จริงมากที่สุด พวกเขาให้ในสิ่งที่คนอื่นต้องการอย่างแท้จริง ในขณะที่ในระดับเสื่อม พวกเขาปฏิเสธความรู้สึกในด้านลบในใจ ความต้องการทางอารมณ์ และความก้าวร้าว จึงไม่รู้ตัวว่ากำลังครอบงำคนอื่น และหลอกใช้คนอื่นอยู่ ยากที่จะรับมือ "ไทป์สอง" ในระดับนี้ เพราะพวกเขาเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ แต่มือถือสาก ปากถือศีล ทำสิ่งที่ชั่วร้ายได้โดยไม่รู้ตัว และคิดว่าตนทำดีที่สุดแล้ว

ปัญหาหลักของ "ไทป์สอง" คือการมองไม่เห็นตัวเองอย่างที่ตัวเองเป็น superego ของพวกเขากำหนดว่า หากพวกเขาแสวงหาความต้องการส่วนตัวอย่างตรง ๆ พวกเขากำลังเห็นแก่ตัว และต้องได้รับโทษ ดังนั้น "ไทป์สอง" จึงหลอกตัวเองว่าไม่ต้องการอะไร และสิ่งที่ตนทำก็เพื่อคนอื่นทั้งนั้น พวกเขาเห็นตัวเองในภาพของนักบุญเท่านั้น พวกเขาหลอกตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบในระดับเสื่อม จนทุกคนต้องแปลกใจในตัวพวกเขา พวกเขามีวิธีการที่จะสนองความต้องการของตนเองในทางอ้อม ไม่ยอมตำหนิตัวเอง และไม่ให้ใครทำด้วย พวกเขาบังคับในทุกคนเห็นดีกับการกระทำของเขาทั้งที่มันเลวบริสุทธิ์

ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นศัตรู และการสร้างตัวตน

ไทป์ในกลุ่มความรู้สึกล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นศัตรู แต่ "ไทป์สอง" จัดการกับมันโดยการปฏิเสธว่าตนเองบาดหมางกับคนอื่น และกดเก็บความก้าวร้าวเพราะ Superego ของพวกเขาห้ามเอาไว้ ถ้าจะแสดงความก้าวร้าวออกมาก็ต้องหาคำอธิบายให้ได้ว่าทำไปเพื่อคนอื่นไม่ใช่ตนเอง พฤติกรรมก้าวร้าวขัดแย้งกับตัวตนที่เป็นพ่อพระของพวกเขา และทำให้พวกเขากลัวการถูกคนอื่นตีจาก พวกเขาปฏิเสธตัวเองว่ามีแรงขับของความเห็นแก่ตัว และมองกระทำของตัวเองเป็นแง่บวกเสมอ พวกเขาเริ่มชำนาญกับการหลอกตัวเองจนทำได้โดยสมบูรณ์แบบ ในระดับเสื่อม พวกเขาสามารถทำเลวอย่างร้ายกาจที่สุดได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิดเลย

ต้นเหตุของพฤติกรรมของ "ไทป์สอง" คือความต้องการที่จะเป็นที่รัก ซึ่งมันแปรเปลี่ยนไปเป็นความต้องการที่จะควบคุมคนอื่น พวกเขาค่อย ๆพยายามทำให้คนอื่นจำเป็นต้องพึ่งพวกเขา พวกเขาฉุนเฉียวมากขึ้น และบังคับให้ทุกคนเห็นความดีของเขา แน่นอนสิ่งเหล่านี้ทำให้คนอื่นบาดหมางกับพวกเขาแน่ ๆ และเมื่อเกิดขึ้น พวกเขาจะหลอกตัวเองให้รู้สึกว่า กำลังถูกกระทำ แทนที่จะเป็นฝ่ายกระทำ พวกเขามองว่าตนเองทำทุกอย่างเพื่อคนอื่นแต่กลับถูกแว้งกัด ความก้าวร้าวของพวกเขาในที่สุดก็จะถูกปลดปล่อยออกมาในรูปแบบของความเจ็บป่วยทางร่างกาย ซึ่งบังคับให้ทุกคนต้องหันมาเอาใจใส่ตน

"ไทป์สอง" ยึดติดกับความคิดที่ว่า คนเราจะได้รับความรักก็ต่อเมื่อ รักและทำทุกอย่างเพื่อคนอื่น พวกเขากลัวคนอื่นจะไม่รักถ้าไม่พยายามทำให้คนอื่นรักตน พวกเขาไขว่คว้าหาความรัก ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความก้าวร้าวแบบเก็บกดขึ้น ถ้าคนอื่นไม่ตอบสนองพวกเขาอย่างที่พวกเขาต้องการ พวกเขาจะฉุนเฉียวมากขึ้น แต่ความที่ไม่อาจยอมรับว่าตนเองมีความก้าวร้าวอยู่ พวกเขาจึงแสดงมันออกมาทางอ้อม ด้วยการบังคับคนอื่น คนรอบข้างจะรู้สึกประหลาดใจมากที่ "ไทป์สอง" อำมหิตกับคนอื่น แล้วยังมีหน้ามาบอกว่าตนเองทำความดี

เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะอยู่ในระดับดี "ไทป์สอง" สนใจแต่ตัวเอง แต่ไม่รู้ตัว พวกเขาไม่ได้สนใจสวัสดิภาพของคนอื่นเลย ความรู้สึกดีกับตัวเอง ซึ่งได้มาด้วยการเห็นการตอบสนองที่ดีจากคนอื่น เท่านั้นที่พวกเขาสนใจ พวกเขาเอาตัวตนไปผูกติดกับ การรักตอบจากคนอื่น พวกเขาจึงไม่เคยเห็นความดี และความรักที่แท้จริงในตัวเอง และยิ่งตกสู่ระดับเสื่อม พวกเขาจะเริ่มไม่ได้รับการตอบสนองในทางบวกจากคนอื่น พวกเขาจะควานหาแต่ อะไรสักอย่างที่พวกเขาถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงการรักตอบจากคนอื่น และไม่สนใจสัญญาณอื่น ๆ พวกเขาจะนิยามคนดีในความรู้สึกของตน และทำทุกอย่างเพื่อที่จะบรรลุนิยามนั้น และได้รับสัญญาณของการรักตอบนั้นให้ได้

พวกเขามองไม่เห็นตัวตนที่แท้ของตัวเอง ยังไงก็ยังมองตัวเองว่าประเสริฐอยู่ดี พวกเขาปฏิเสธความต้องการส่วนตัว และเชื่อแต่ภาพลักษณ์ของพ่อพระที่ตัวเองอุปโหลกขึ้นมาก พวกเขาเป็นที่รำคาญของคนอื่น เพราะความที่เอาตัวตนไปผูกติดกับ การตอบสนองในทางบวกที่คนอื่นให้กลับมา พวกเขาต้องรู้ตัวให้ได้ว่ากำลังหลอกตัวเอง แต่หันมาหาคนที่ต้องการความรักจากพวกเขาอย่างมากที่สุด นั้นก็คือตัวเขาเอง

กับพ่อแม่

ในวัยเด็ก "ไทป์สอง" สองจิตสองใจกับ ผู้ปกป้อง ซึ่งก็คือ พ่อ หรือใครก็ตามที่ให้ต้นแบบ และสร้างวินัยให้กับ "ไทป์สอง" พวกเขาไม่ผูกพันกับ ผู้ปกป้อง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ตัดขาดกันทางจิตใจ ผลก็คือ "ไทป์สอง" จะคิดว่าตนเองสามารถมีที่ยืนอยู่ในบ้านได้ หากหน้าที่ในสิ่งที่ผู้ปกป้องขาดหายไป ซึ่งสิ่งที่ผู้ปกป้องไม่มีก็คือ ความเป็นผู้เลี้ยงดู หรือแม่นั่นเอง พวกเขาเริ่มทำตัวเป็นแม่ตัวน้อย ๆในบ้าน เพื่อให้คนในบ้านรักตอบ และกลายเป็นสิ่งที่ "ไทป์สอง" ปฏิบัติต่อกับคนที่พวกเขาต้องการความรัก เมื่อโตขึ้น

ความนับถือตัวเองของ "ไทป์สอง" เป็นความนับถือตัวเองแบบมีเงื่อนไข ความรักตัวเองแบบมีเงื่อนไขเป็นสาเหตุของความทุกข์ใน "ไทป์สอง" พวกเขาตั้งเงื่อนไขว่าจะรักตนเองก็ต่อเมื่อ ตนเองเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว และบริสุทธิ์ ยิ่งวัยเด็กของ "ไทป์สอง" ยิ่งเลวร้ายเท่าไร พวกเขายิ่งอุทิศตัว และกดเก็บความต้องการส่วนตัวมากเท่านั้น

และยิ่งเห็นแก่ตัวเท่าไร "ไทป์สอง" ก็ยิ่งต้องหาทางออกให้ตัวเองทางอ้อม superego ของเขาเข้มงวด และตรวจตราว่า "ไทป์สอง" ทำอะไรเห็นแก่ตัวหรือไม่ อีกทั้งยังคอยตรวจสอบการตอบสนองจากคนรอบข้างอีกด้วย "นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่ วนิดาพูดเกี่ยวกับตัวเธอ แต่ถ้าเธอเป็นคนที่น่ารักจริง วนิดาจะต้องกอดเธอเลย" ในระดับเสื่อม พวกเขาไม่มีทางทำให้ superego ของพวกเขาพอใจได้ พวกเขาไม่สามารถหาคนมาแสดงความรักตอบได้มากพอ และไม่สามารถเสียสละได้มากพอ พวกเขาจึงต้องหาทางออกด้วยการหลอกตัวเองว่า เป็นคนดี ไม่เห็นแก่ตัว และไม่มีกิเลส

ปัญหาเกิดเมื่อ "ไทป์สอง" คิดว่าตัวเองดีตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่ตนทำเลว แต่เมื่อ "ไทป์สอง" เข้าสู่ระดับดี พวกเขาเริ่มหันเหความสนใจมาที่การรู้จักรักตัวเอง และแยกแยะได้ว่ามันแตกต่างจากการเป็นคนเห็นแก่ตัว และรู้ด้วยว่ามันเป็นพื้นฐานที่จำเป็นหากต้องการจะเป็นที่พึ่งของคนอื่น พวกเขารู้จักรักตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข และไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีสำหรับคนอื่นตลอดเวลา พวกเขาจะเริ่มรู้จักการเอาใจใส่คนอื่นในทางที่ถูก

ระดับจิตใจ

ระดับหนึ่ง "ผู้ปรารถนาดี"

"ไทป์สอง" ในระดับนี้รักคนอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องการให้รักตอบ อย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขามีอิสระภาพที่จะรัก และไม่รัก และในเวลาเดียวกันคนอื่นจะรักหรือไม่รักเขาตอบได้อย่างมีอิสระเสรีด้วย คนที่พวกเขารักจะเดิบโตไปตามทางของคน ๆนั้น แม้ว่าจะต้องหมายถึงการแยกจากกันไปก็ได้ การได้รักคนอื่นก็เป็นสิ่งที่พิเศษที่คนอื่นมีให้พวกเขาแล้ว และมักไม่ใช่อะไรที่พวกเขาจะเรียกร้องกลับ

ที่ "ไทป์สอง" รู้สึกได้อย่างนี้ เพราะพวกเขาได้เรียนรู้ที่จะให้ความสนใจในความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง และรู้จักดูแลตัวเอง พวกเขาให้ตัวเองโดยไม่คิดว่าเป็นการเห็นแก่ตัว จึงไม่จำเป็นต้องไปหาความรักจากคนอื่น พวกเขารู้ว่าตัวเองต้องการอะไร จึงเข้าใจความต้องการของคนอื่นด้วย และในบางทีก็คิดได้ว่า การช่วยเหลือที่ดีที่สุด อาจเป็นการไม่ทำอะไรเลย การให้นั้นเป็นทางเลือก ไม่ใช่เรื่องบังคับ

ในระดับนี้ "ไทป์สอง" รักผู้อื่นอย่างประเสริฐที่สุด เท่าที่มนุษย์จะมีได้ พวกเขามีความปรารถนาดีอยู่เต็มเปี่ยม และดีใจเมื่อคนอื่นได้ดี พวกเขาถือว่าคนเราควรทำความดี ไม่ว่าจะได้รับผลตอบแทนหรือไม่ พวกเขาไม่โกรธถ้าใครจะเอาความดีของพวกเขาไปเอาหน้า แค่ได้ทำสิ่งดีให้กับคนอื่นก็สมบูรณ์แล้ว พวกเขาปรารถนาดีต่อคนอื่นโดยไม่มีแรงดึงดูดอื่นแอบแฝง การไม่หวังผลตอบแทนทำให้พวกเขามองออกถึงความต้องการที่แท้จริงของคนอื่น ไม่มีอัตตาหรือความต้องการส่วนตัวมาบังตา พวกเขาจึงมีความสัมพันธ์กับบุคคลอย่างตรงไปตรงมา

ยิ่งให้ พวกเขาก็ยิ่งสนุกกับการให้ ยิ่งได้รับอำนาจจากคนอื่น พวกเขาก็ยิ่งไม่ต้องการมัน ยิ่งไม่ต้องการความรักตอบ พวกเขาก็ยิ่งได้ สิ่งที่พวกเขาได้รับจากการทำความดี คือความสุขใจอยู่แล้ว พวกเขาเบิกบานเพราะได้ทำดี พวกเขาเปล่งรัศมีของความดีออกมายังคนข้าง ๆ

มีคนน้อยนักที่ก้าวเข้ามาอยู่ในระดับนี้ได้ และเมื่อมาถึง พวกเขาก็ไม่โอ้อวด และรู้สึกถ่อมตัวเกินกว่าที่จะให้ใครยกย่อง พวกเขาจะรู้สึกแปลก ๆที่ใครจะมายกย่องพวกเขาให้เป็นนักบุญ เพราะไม่ได้คิดว่าตนเองดีเด่นอะไร พวกเขาเรียนรู้ความรักที่แท้จริง และก้าวข้ามอัตตาเพื่อให้โอกาสตัวเองและคนอื่น

ระดับสอง "ผู้เอาใจใส่"

แม้จะไม่ได้รักอย่างบริสุทธิ์ "ไทป์สอง" ในระดับนี้ก็เป็นห่วงเป็นใยคนรอบข้าง เป็นไทป์ที่เห็นอกเห็นใจคนมากที่สุด พวกเขารู้สึกถึงความทุกข์ของคนอื่นราวกับว่าประสบกับตัวเอง เข้าใจสภาพที่คนอื่นเป็นอยู่ เมื่อได้ทราบข่าวโศกนาฏกรรมทางโทรทัศน์ พวกเขาก็ส่งใจไปหาผู้ประสบภัย ปัญหาเรื่องงานและเรื่องชีวิตรักของเพื่อนสะกิดใจพวกเขามาก แค่นี้ก็เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคนที่เดือดร้อนแล้ว

อย่างไรก็ตามพวกเขาเริ่มเบนความสนใจจากความรู้สึกที่แท้จริงของตน ไปยังคนอื่น เริ่มเห็นตัวเองเป็นผู้ที่มีแต่ความรู้สึกในด้านดีต่อคนอื่น แทนที่จะปล่อยความรู้สึกของตนให้มีอิสระ แต่พวกเขาก็ยังเป็นคนดีจริงอยู่ เพราะเป็นห่วงคนอื่นอย่างจริงใจ พวกเขามีอารมณ์ร่วมกับคนอื่นอย่างมาก ใช้ใจมากกว่าใช้สมอง พวกเขาไม่สนใจว่าอะไรถูกผิดเท่ากับการที่เป็นห่วง และไม่ตัดสินคน พวกเขามองว่าตนเป็นคนดี และก็ใช่จริง ๆ พวกเขาสัมผัสได้ถึงความเป็นคนอบอุ่นของตัวเอง พวกเขามั่นใจในตัวเอง เพราะความดีที่พวกเขาได้ทำ พวกเขาใจกว้างเสมอ แม้ว่าจะจน ใจบุญ และตีความอะไรเป็นแง่ดีไปหมด เห็นคนอื่นแต่ส่วนดี พวกเขารักได้แม้แต่คนบาป แต่ไม่ได้รักบาป

ระดับสาม "ผู้ช่วยเหลือ"

"ไทป์สอง" ต้องการบอกให้คนอื่นรู้ว่าตนรู้สึกอย่างไร ซึ่งความต้องการนี้ให้ผลออกมาในรูปการกระทำ พวกเขาหาความสุขจากการได้ช่วยคนอื่นอย่างเป็นรูปธรรม ปรนนิบัติคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ให้หาอาหาร เครื่องนุ่งหุ่ม เยี่ยมคนป่วย อาสาบริการสังคม และใช้ทำอย่างที่ตนมีในการบำเพ็ญประโยชน์

พวกเขาออกหาคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ยอมช่วยคนอื่นทั้งที่ตนต้องลำบาก ช่างคิดช่างเอาใจ เป็นที่พึ่งของคนอื่นในยามวิกฤต เป็นคนที่คุณสามารถโทรไปหาตอนเที่ยงคืนได้ ถ้าต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาเอื้อเฟื้อทั้งเวลา ความเอาใจใส่ เงินทอง ฯลฯ ผู้คนเข้าหาเขาเพราะพวกเขามีทั้งความห่วงใย และการสงเคราะห์ที่เป็นรูปธรรม พวกเขาให้ทุกอย่างที่มี รวมทั้งการใช้ความสามารถที่มีอยู่ และมีความสุขกับการได้ให้ และได้เห็นคนเหล่านั้นเติบโต

พวกเขาทำแบบนี้ได้ ด้วยรู้จักขีดจำกัดของตัวเอง และไม่ทำอะไรเกินกำลัง พวกเขาใส่ใจทั้งคนอื่น และตัวเอง ถ้าบอกให้คนอื่นพักผ่อนให้มาก พวกเขาก็ต้องแน่ใจด้วยว่าตัวเองก็พักผ่อน พวกเขาจึงยังคงสนุกกับชีวิต เป็นเพื่อนที่เฮฮา เพราะเป็นผู้ฟัง สนใจคนอื่น และมีอารมณ์สนุกสนานอย่างแท้จริง พวกเขารู้สึกสบาย ๆกับ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ ความรักที่พวกเขามีให้เป็นสิ่งที่พิเศษ กล่าวคือ พวกเขาทำให้คนอื่นได้รู้สึกว่ามีใครสักคนคอยเป็นห่วง พวกเขาเห็นความดีของคนอื่น และชมด้วยความจริงใจ ยกใจคน และสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้คนอื่น พวกเขามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนอื่น เพราะพวกเขาทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่ามีใครสักคนคอยเป็นห่วง และเป็นผลทำให้คนเหล่านั้นเติบโตและสร้างสรรสิ่งที่ดีงามอีกที

"ไทป์สอง" เป็นพ่อแม่ตัวอย่าง พวกเขาให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก คอยดูแลสวัสดิภาพ ให้กำลังใจ ให้โอกาสที่จะเติบโต เรียนรู้ และค้นพบจุดแข็งของตัวเอง พวกเขาใฝ่ฝันที่จะเป็นอย่างนักบุญ และก็ทำได้ดี

ระดับสี่ "เพื่อนเผยความรู้สึก"

"ไทป์สอง" ในระดับนี้เริ่มไม่ดีจริง พวกเขาพูดถึงความรู้สึกและความปรารถนาดีของตนมากเกินไป และแทนที่จะสนใจในสวัสดิภาพของคนอื่นจริง ๆ พวกเขากลับสนใจว่าคนอื่นจะคิดถึงเขาในทางที่ดีหรือไม่ และต้องการจะแน่ใจว่าคนอื่นรักเขา พวกเขาเริ่มกลัวว่าสิ่งตนทำยังไม่ดีพอที่จะซึ้อคนได้ และเริ่มจะมองว่าความรักคือความใกล้ชิดสนิทสนม และมองข้ามส่วนอื่น ๆของความรักไปสิ้น "ไทป์สอง" ต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงความดีของตน และรับรู้ว่าตนแคร์แค่ไหน และพูดถึงบ่อย ๆ ว่าความผูกพันที่มีอยู่ลึกซึ้งแค่ไหน พวกเขาดิ้นรนที่จะเข้าใกล้คนอื่น และพยายามคิดว่าคนอื่นต้องการพวกเขา

ในระดับนี้ พวกเขายังใจกว้างอยู่ แต่สนใจการมีภาพลักษณ์ของคนใจกว้างมากกว่าที่จะใจกว้างจริงๆ "ไทป์สอง" เป็นมิตรและช่างพูด อยากเสวนากับทุกคนที่ได้พบ พวกเขาดูอารมณ์อ่อนไหว ชอบบอกให้คนอื่นรู้ความรู้สึกของตน มีความสามารถในการพบปะ และมักกล่าวถึงคนที่ได้พบเจอในฐานะเพื่อน มากกว่าแค่คนรู้จัก เวลาอยู่กับใครก็ชอบโอบไหล่ หรือจับแขนอย่างสนิทสนม พวกเขาต้องการที่จะอยู่ใกล้ ๆ อยากหอม อยากสัมผัส และอยากกอด พวกเขาเอาใจคนอื่นเพื่อให้คนอื่นรักตอบ แต่ไม่ยอมรับ พวกเขาพยายามเชื่อว่าตัวเองต้องการแค่จะรัก และแสดงออกให้คนรู้ว่าตนรู้สึกดีกับคนเหล่านั้น คำพูดเหล่านั้นฟังดูเป็นการป้อยอมาก และดูเหมือนต้องการให้คนนั้นสำนึกบุญคุณที่พวกเขากล่าวชมเชยด้วย

"ไทป์สอง" มั่นใจว่าตนมีอะไรดีที่จะให้คนอื่น นั้นก็คือความรักและเอาใจใส่จากพวกเขา พวกเขาเชื่อว่าตัวเองเป็นคนคิดดีกับคนอื่น และสิ่งที่ตนทำล้วนแล้วแต่เป็นความดี อัตตาของพวกเขากำลังได้ใจ แต่พวกเขาไม่ยอมรับ

ศาสนามักมีความสำคัญต่อชีวิตของ "ไทป์สอง" พวกเขาอาจทำดีเพราะเคร่งศาสนา ศาสนาเป็นสิ่งที่ไปกันได้กับภาพลักษณ์ที่พวกเขาพยายามสร้างอยู่แล้ว และมันยังให้ความหมายของคำที่พวกเขาชอบพูดถึง ไม่ว่าจะเป็น ความรัก มิตรภาพ การเสียสละ ความดี ฯลฯ พวกเขาพยายามติตด่อกับพระเจ้า หรืออยากมีพลังจิต เพราะคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยเสริมให้ "ไทป์สอง" ดึงดูดคนได้มากขึ้น และทำให้พวกเขาอยู่ข้างเดียวกับเทพ ยากที่จะถูกกล่าวถึงในทางลบ พวกเขาจินตนาการเอาว่า ความรักของเขาเอาชนะทุกสิ่งได้ ฆ่าคนอื่นได้ด้วยความเมตตา เอาชนะใจคนอื่นได้ด้วยความดี หรือฝันว่าตัวเองเป็นเทวฑูต เรื่องของศาสนาล้วนแล้วแต่ทำให้ "ไทป์สอง" รู้สึกดีกับตัวเองทั้วสิ้น

พวกเขาเริ่มยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากขึ้น พวกเขาพยายามเน้นถึงความประเสริฐของตัว แม้ว่าคำพูดจะพยายามยกความดีให้คนอื่น แต่ลึก ๆแล้วแฝงคำโฆษณาตัวเองไว้ด้วย พวกเขาพยายามใกล้ชิดคนที่พวกเขาต้องการความรักตอบมากขึ้น พยายามคยั้นคยอให้คนเหล่านั้น เผยความคิดลึก ๆ หรือเรื่องที่ส่วนตัวมาก ๆ เพราะพวกเขาอยากเป็นคนพิเศษ สำหรับคน ๆนั้น

หลายคนชอบสิ่งที่ "ไทป์สอง" ทำ โดยเฉพาะพวกที่ไคว่คว้าหาการยอมรับ แต่คำสรรเสริญเยินยอเหล่านั้นของ "ไทป์สอง" ไม่ใช่สิ่งที่ให้ฟรี พวกเขาต้องการอะไรกลับมา

ระดับห้า "พ่อคนสนิท"

"ไทป์สอง" มีพรสวรรค์ในเรื่องมนุษยสัมพันธ์ และมักสร้างแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนที่ต้องพึ่งพวกเขาได้สำเร็จ พวกเขาอยากเป็นศูนย์กลางของครอบครัว หรือชุมนุมชน เพื่อว่าทุกคนจะได้เห็นเขาเป็นคนสำคัญในชีวิต พวกเขาอุปการะคนอื่น และทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าเป็นหนี้ชีวิตที่ "ไทป์สอง" ยอมรับเขามาในกลุ่ม

ในระดับนี้ พวกเขาเหมือน มารดาในอุดมคติของชาวยิว ผู้ซึ่งทำให้คนอื่นไม่สิ้นสุด พวกเขาค้นหาคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างไม่เลือกหน้า ซึ่งนั้นเป็นผลเสียกับ "ไทป์สอง" เพราะ ในที่สุด รอบตัวเขาก็จะเต็มไปด้วย คนที่ขาดทางจิตใจ ซึ่งไม่สามารถให้ความรักตอบแทน "ไทป์สอง" ได้อย่างที่ "ไทป์สอง" ต้องการ แต่นั้นคงไม่ได้เป็นปัญหา เท่ากับการที่ "ไทป์สอง" จะมองหาบางสิ่งบางอย่างโดยเฉพาะในการพิสูจน์ว่าตนได้รับความรักตอบเท่านั้น ถ้าไม่มีก็แสดงว่าคนอื่นไม่รัก พวกเขาเริ่มกลัวว่าคนที่ตนรักจะรักคนอื่นมากกว่าตน และเริ่มรู้สึกว่าต้องมีคนรักตนอยู่ ตนจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ พวกเขาไม่รู้ตัวว่ารู้สึกแบบนี้ เพราะ superego ของพวกเขาห้ามไว้ และบังคับให้ "ไทป์สอง" เชื่อว่าตนมีความรักที่บริสุทธิ์

รักเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับเขา พวกเขาต้องการที่จะรักทุกคน ความรักกลายเป็นข้ออ้าง เหตุผล แรงจูงใจ และเป้าหมายชีวิต ความรักของเขาเป็นคำตอบสำหรับความปรารถนาทั้งปวงของมนุษยชาติไปแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงมองทุกคนเป็นเด็กอมมือที่มีแต่ความต้องการ และพยายามมอบความรัก ความเอาใจใส่ให้คนอื่น ไม่ว่าคนอื่นจะต้องการหรือไม่ พวกเขายุ่งเรื่องคนอื่น สอนคนอื่นอย่างไม่ได้รับเชิญ เสือกทุกกรณี โดยอ้างการเสียสละตัว พวกเขาต้องการที่จะเป็นที่ต้องการ

พวกเขาทำตัวยุ่ง เพราะก้าวก่ายคนอื่นเสียทุกเรื่อง ทำตัวเป็นพ่อแม่ของเพื่อนๆ และคิดว่าการแก้ปัญหาของคนอื่นเป็นหน้าที่ของตน ไม่ลังเลที่จะเข้าช่วยคนอื่น ช่วยหางาน ช่วยให้คำแนะนำการแต่งบ้าน ผลก็คือ คนอื่นเริ่มรู้สึกรำคาญ และทำตัวออกห่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ "ไทป์สอง" กลัวที่สุด

ในระดับนี้ "ไทป์สอง" ชอบนินทา เพราะเหมือนกับเป็นการบอกเป็นนัยว่า ตนมีเพื่อนมากและสนิททุกคน พวกเขาพูดถึงเพื่อนอย่างสนิทสนม และเปิดเผยเรื่องราวที่น่าอับอาย นอกจากนี้ยังชอบถามคำถามละลาบละล้วง และคนที่ถูกถามมักรู้สึกอับอายที่ถูกถาม ในขณะที่ พวกเขาไม่ยอมพูดถึงตัวเอง เพราะพยายามบอกคนอื่นว่าตนไม่มีปัญหา คนอื่นต่างหากที่มี และเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องช่วย

พวกเขาแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอื่นได้รวดเร็ว ยากที่จะหลีกเลี่ยง พวกเขาเอาใจอัตตาของตัวเอง และทำให้คนอื่นต้องแบกภาระด้วยการให้ความรักแก่เขาตอบ การเข้าแทรกแซงของ "ไทป์สอง" มักส่งผลร้ายให้กับคนอื่น แต่พฤติกรรมที่อุทิศตนอย่างไม่คิดชีวิตของ "ไทป์สอง" ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับผิดนั้น

การเสียสละเพื่อคนอื่น ทำให้ "ไทป์สอง" คิดว่าตนน่าจะมีสิทธิ์ในคน ๆนั้นด้วย พวกเขาจึงทำตัวเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หึงหวง ชอบเช็คโทรศัพท์ พวกเขาเริ่มกลัวว่าจะถูกนอกใจ และหากห่างเหินเกินไป คงถูกทอดทิ้งแน่ ๆ พวกเขาหลีกเลี่ยงที่จะแนะนำเพื่อน ๆของเขาให้รู้จักกันเอง เพราะกลัวถูกทิ้ง พวกเขารู้สึกชอบที่เห็นเพื่อนตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะนั้นทำให้หน้าที่เพื่อนของเขาชัดเจน และมีความสำคัญขึ้นมาอีก พวกเขาไม่มีวันตีจากใคร

พวกเขาแสวงหาสัญญาณที่แสดงถึงความรักตอบที่เพื่อนมีให้ พวกเขากลัวเกินกว่าเหตุ และยากที่จะทำให้เชื่อได้ว่า คนอื่นรักเขาจริง พวกเขามองหาสัญญาณที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงมาก เช่น คาดหวังให้คนอื่นรู้ความต้องการของตน อาทิ ให้โทรกลับ ให้นัดไปทานอาหาร ให้ส่งบัตรเชิญมาให้ หรือให้เขียนขอบคุณ ทุกอย่างต้องเฉพาะเจาะจง การเขียนการ์ดมาใช้ไม่ได้ถ้า "ไทป์สอง" ต้องการการกอด บางทีพวกเขาจะเรียกร้องมันอย่างอ้อม ๆ "ดูเหมือนคุณต้องการการกอดจากใครสักคนนะ" พวกเขาไม่ยอมบอกความต้องการเหล่านั้นอย่างตรง ๆเพราะ superego ของเขาไม่อนุญาต พวกเขาหยิ่งในตัวเอง ไม่ยอมรับว่าตัวเองก็มีความต้องการ หรือมีความเจ็บปวด

พวกเขาจึงพึงใจอย่างยิ่ง ถ้าถูกยกย่องให้เป็นผู้รู้ ผู้ที่คนอื่นมาปรึกษาเรื่องส่วนตัว พวกเขาคาดหวังให้เพื่อนทุกคนบอกเรื่องสำคัญต่าง ๆในชีวิตให้พวกเขาทราบ ต้องการเป็นเหมือนจุดที่ข่าวสังคมทุกข่าวต้องมาผ่าน พวกเขาใจจดจ่อที่จะได้ทราบว่า คนอื่นกำลังกล่าวถึงเขาอย่างชื่นชม ความรักและความเอาใจใส่ของเขาได้ส่งผลที่ดี ฯลฯ พวกเขาจึงพยายามติดต่อเพื่อนเก่า ๆเอาไว้ และใช้เวลากับคนเหล่านั้นให้มากที่สุด พยายามพร่ำบอกว่าพวกเขาคิดถึงคนเหล่านั้นอยู่เสมอ เป็นห่วง สวดมนต์ให้ ฯลฯ แม้ว่าพวกเขาจะยังเป็นคนช่างคิดช่างเอาอกเอาใจ แต่มันผิวเผินขึ้นทุกที พวกเขาคอยจำและโทรไปอวยพรวันเกิด และกลับไม่ยอมติดพันกับความต้องการที่แท้จริงของใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อจะได้มีเวลาให้กับคนได้หลายๆ คน

"ไทป์สอง" ต้องการเป็นที่รักของทุกคน พวกเขาจึงแสวงหาความรักจากหลาย ๆแหล่ง พวกเขาจะขยายวงของกลุ่มเพื่อนให้กว้างออกไปเรื่อย ๆ และประดิษฐ์ความต้องการหลาย ๆรูปแบบให้เพื่อน เพื่อตนจะได้สนองความต้องการเหล่านั้นให้ พวกเขาจะไม่มีวันได้ความรักที่ลึกซึ้งตอบ เพราะเมื่อใครคนหนึ่งต้องการความช่วยเหลือ ก็พบว่า "ไทป์สอง" กำลังไปช่วยคนอื่นอยู่ และในเวลาเดียวกัน "ไทป์สอง" เองก็รู้สึกว่ามีภาระของคนอื่นอยู่ท่วมหัว แต่ก็ยากที่จะสลัดทิ้ง เพราะมันเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อตัวตนของพวกเขามาก ผลก็คือพวกเขาจะพร่ำบ่นถึงความเจ็บปวด ความลำบาก และปัญหาต่าง ๆที่เกิดจากการเป็นคนดีของพวกเขา พวกเขาอาจมีอาการป่วยทางกาย อาการจิตสลายอย่างอ่อน ๆ และอาการไฮโปคลอนเดีย (คิดว่าตัวเองเป็นโรคต่าง ๆ) ร่วมด้วย

ถึงขั้นนี้ "ไทป์สอง" ไม่ใช่คนดีเหมือนก่อน พวกเขามีอัตตาสูง ซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่อาจปฏิเสธ ("ไทป์สอง" ไม่เคยบอกว่าตัวเองไม่มีอัตตา เพียงแต่บอกว่าตัวเองเป็นที่มีความรักให้คนอื่น และปรารถนาดีเท่านั้น) และพวกเขายังมีแรงขับภายในสัญชาตญาณที่ไม่สามารถปลดปล่อยออกมาได้ตรง ๆอีก "ไทป์สอง" รับไม่ได้ที่จะเห็นตัวเองเป็นคนเห็นแก่ตัว พวกเขาจึงพยายามเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำไป เป็นไปเพื่อคนอื่นทั้งหมด พวกเขารู้สึกว่าถ้าจะเป็นที่รักของคนอื่น ต้องทำเพื่อคนอื่นทุกอย่าง พวกเขากำลังติดสินบนคนอื่นให้รักตน พวกเขาต้องการการตอบสนองที่จริงใจ แต่กลับไม่ปล่อยให้คนอื่นแสดงออกมาเอง พวกเขาดิ้นรนเพื่อให้คนอื่นแสดงออกอย่างที่พวกเขาคาดหวัง พวกเขาจะเริ่มวิตกกังวลเพราะรู้สึกว่า คนอื่นจะไม่ตอบสนองถ้าเขาไม่กระตุ้น พวกเขากำลังเผชิญปัญหาที่ตัวเองเป็นคนสร้าง

ระดับหก "นักบุญคนสำคัญ"

พวกเขากำลังสงสัยว่า เขาทำทุกอย่างเพื่อคนอื่น ทำเพียงเพราะสุขใจที่ได้ทำ แม้แต่การเสียสละตัวเองก็ทำไปแล้ว แต่ดูเหมือนคนอื่นจะไม่ค่อยแคร์ ไม่มีใครเห็นความดี ดูเหมือนว่าทุกคนจะเป็นคนขี้ลืม และไม่ค่อยคิดอะไรมาก คนเหล่านี้สมควรได้รับการเตือนให้รู้อยู่เสมอว่า พวกเขาทำดีขนาดไหน

ปัญหาของ "ไทป์สอง" คือ พวกเขาไม่สามารถทำอะไรให้ตัวเองได้ ถ้าไม่มีคนอื่นเข้ามารับประโยชน์ด้วย พวกเขาเริ่มยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยกย่องตัวเอง บอกว่าตัวเองสำคัญต่อทุกคน ชมตัวเองอย่างไร้ยางอาย ทั้งที่ที่จริงทำเพื่อตัวเอง

บาปของ "ไทป์สอง" ก็คือ ความจองหอง พวกเขาชื่นชมตัวเอง และไม่ปล่อยโอกาสที่จะทวงบุญคุณให้หลุดรอดไป "รู้ไหมว่านายโชคดีขนาดไหนที่มีฉันเป็นเพื่อน" พยายามบอกให้คนหนึ่งให้ความสำคัญกับตน เพราะอึกคนหนึ่งกำลังทำอย่างนั้นอยู่ พวกเขาไม่รู้ตัวว่าตัวเองจองหอง พวกเขาเรียกร้องความสนใจในการกระทำเยี่ยงนักบุญของพวกเขา พวกเขาปรารถนาที่จะส่องแสงเจิดจรัสต่อหน้าทุกคน ความจองหองกำลังปิดหูปิดตาตัวเขาให้มองไม่เห็นจิตที่ทรมานของเขา "ไทป์สอง" เชื่อว่าหาตนคิดไม่ดีสักนิดเดียว ตนจะต้องถูกผู้คนทอดทิ้ง "ไทป์สอง" ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความเจ็บปวด และความพิโรธ แต่ทุกคนกำลังรู้สึกได้ด้วยสิ่งที่ "ไทป์สอง" สื่อออกมาทางอ้อม พวกเขาไม่อาจพูดอะไรอย่างเปิดอกได้ เพราะได้ลงทุนไปกับตัวตนที่จอมปลอมของเขาอย่างกู่ไม่กลับแล้ว

ความหลงตัวเองและความนับถือตัวเองได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้กับพวกเขาจน พวกเขาต้องการให้คนอื่นดีกับเข้าอย่างต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด พวกเขาต้องการให้คนอื่นให้เขากลับเพื่อสนองคุณ ไม่ว่าที่จริงแล้วพวกเขาจะมีบุญคุณหรือไม่ พวกเขารู้สึกว่าคนอื่นติดหนึ้เขาอย่างไม่มีวันชดใช้ได้หมด พวกเขาคิดว่าบุญคุณของเขายิ่งใหญ่เกินจริง และคิดถึงสิ่งที่คนอื่นตอบแทนกลับมาอย่างต้อยต่ำเกินไป พวกเขาอ้างบุญคุณกับทุกสิ่งที่ดี ๆในชีวิตของคนอื่นหมด "ไทป์สอง" คิดว่าคนอื่น ๆคงไม่มีวันเป็นผู้เป็นคนแบบนี้ได้ หากไม่มีเขาเมื่อวันก่อน และพวกเขาก็กล้าที่จะทวงบุญคุณอย่างไม่ลังเล

ในระดับนี้ "ไทป์สอง" ดิ้นรนหารัก และเริ่มหาอย่างคนหน้ามืด ความต้องการส่วนตัวของพวกเขารุนแรงร้าวร้อนขึ้น แต่ยังกดเก็บไว้ พวกเขาดิ้นรนหาอะไรสักอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ที่แทนความรักที่คนอื่นตอบกลับมา พวกเขาเรียกร้องความสนใจอย่างไม่เลือกหน้า พวกเขาเข้าร่วมทุกสถานการณ์ที่ตนอาจมีโอกาสได้รับรักตอบ พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมทุกอัน และอยากรู้เรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้น บางทีก็มีอาการปลดปล่อยทางเพศ พยายามทำให้ตัวเองเป็นที่ดึงดูด เพราะนั้นหมายถึงการเป็นคนที่มีคนอื่นรัก

พวกเขาไม่รู้ตัวว่าคาดหวังจากคนอื่นมากไป พวกเขาโกรธถ้าใครไม่ยอมให้พวกเขาเข้าไปยุ่มย่ามชีวิตส่วนตัว ยิ่งเสือกเท่าไร คนอื่นก็ยิ่งวิ่งหนี และยิ่งทำให้ "ไทป์สอง" รู้สึกขมขื่นเพราะมันทำร้ายความรู้สึกของการเป็นคนสำคัญของเขาไป พวกเขามักระบายอารมณ์ด้วยการ กินจุ ดื่มเหล้า ใช้ยา แต่ยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีคนรัก

ระดับเจ็บ "นักหลอกใช้คน"

พวกเขาต้องใช้วิธีการหลอกใช้คนอื่นเท่านั้นในระดับนี้ เพราะความก้าวร้าวของพวกเขารุนแรงมากขึ้น แต่ไม่สามารถแสดงออกมาตรง ๆได้ พวกเขาจึงต้องหาใครสักคนมามอบความรักที่พวกเขาโหยหาให้ได้ โดยการหลอกใช้ แต่ยิ่งพวกเขาหลอกใช้ พวกเขาก็จะยิ่งไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ

"ไทป์สอง" ทนไม่ได้ที่พบว่าไม่มีใครรัก เพราะความรักเป็นนามธรรมที่มีค่าที่สุดในความคิดของพวกเขา แต่ความรักในระดับเสื่อมนี้ไม่ใช่ความรัก มันคือการเกาะคนอื่น และความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด ในระดับนี้พวกเขาไม่มีสติมากพอที่จะรับรู้ความรัก ไม่ว่าจะเป็นการให้รัก หรือการรับรัก

พวกเขาใช้คำว่ารักเป็นข้ออ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตน เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการทางอ้อม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การหลอกใช้ พวกเขาใช้ ความรู้สึกผิด เป็นเครื่องมือที่บังคับให้คนอื่นทำอะไรก็ได้ตามต้องการ หลอกใช้ให้คนตีกันเอง หรือหลอกให้คนอื่นมาทำอะไรให้ตน มันเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับคนอื่นที่รู้ว่า "ไทป์สอง" ทำได้ขนาดนี้ พวกเขาดึงเอาคนทุกระดับไม่ว่าสูงหรือต่ำกว่าตนให้เข้ามาร่วมเกมส์ได้ พวกเขาประนาณคนอื่นให้รู้สึกลังเลสงสัย สับสน และรู้สึกผิด เพื่อล่อให้ทำอะไรที่พวกเขาต้องการได้อย่างไม่น่าเชื่อ

พวกเขาทำร้ายคนอื่น แต่บอกว่ากำลังช่วย มือหนึ่งกำลังแทงจุดอ่อน ในขณะที่อีกมือหนึ่งกำลังทำแผลให้ พวกเขาทำให้คนอื่นรู้สึกต้อยต่ำในขณะที่ใช้คำชมเชยป้อยอไปด้วย พวกเขาเตือนคนอื่นให้รู้ว่ามีปัญหา และไม่มีอนาคต แต่ไม่ต้อง พวกเขาจะอยู่เคียงข้างตลอดไป พวกเขาฉีกแผลเก่าให้กว้างขึ้น และรีบเข้ามาทำแผลให้ พวกเขาทำตัวเป็นทั้งเพื่อนที่ดีที่สุด และศัตรูหมายเลขหนึ่ง

พวกเขายังคงรู้สึกว่าต้องทำอะไรให้คนอื่น แต่พวกเขาก็บ้าเกินกว่าที่จะทำได้แล้ว แต่ก็ยังไม่หยุด ผลก็คือความเจ็บป่วยทางกาย ซึ่งเปิดโอกาสให้ "ไทป์สอง" หยุดช่วยคนโดยที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเห็นแก่ตัว ในระยะยาว ยา และอาหารที่พวกเขาใช้จะทำให้พวกเขาเจ็บป่วยขึ้นมาจริง ๆ และกลายเป็นเครื่องมือในการดึงดูดความสนใจของคนอื่น พวกเขาใช้ความน่าสงสารในการขอความรัก

ยากที่จะช่วย "ไทป์สอง" ในระดับนี้ เพราะพวกเขาปฏิเสธความช่วยเหลือ พวกเขาเอาตัวเองไปผูกไปกับความเป็นผู้ประเสริฐ และยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการกระทำทุกอย่างของตน ห้ามใครสงสัยหรือคิดจะเปิดโปงเจตนาที่แอบแฝงอยู่ ไม่ว่าใครจะมีหลักฐานที่ชัดเจนขนาดไหน พวกเขาก็อาศัยความบริสุทธิ์ใจ และพลังแห่งความรักหักล้างหมด พวกเขาใช้เหตุผลทางศาสนาในการอธิบายให้ตัวพ้นจากความผิด พวกเขาถือว่าด้วยความรักแล้ว พวกเขาจะทำอะไรก็ได้ไม่ผิด สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการกดเก็บความโกรธ และการดิ้นรนเพื่อให้อัตตาของตนอยู่รอด พวกเขาทำทุกวิถีทางที่จะรั้งคนอื่น ๆเอาไว้ เพราะถ้าไม่มีใครพึ่งพวกเขาอยู่ พวกเขาก็รู้สึกเหมือนคนไร้ค่า พวกเขากลัวที่จะต้องโดดเดี่ยว แต่ก็พร่ำด่าคนที่มาขอพึ่งว่าทำให้พวกเขาต้องลำบาก และพวกเขาจะไม่มีวันยอมรับว่าตนมีความเกลียดชัง หรือทำอะไรเพื่อตัวเองเป็นอันขาด

การหลอกตัวเอง เป็นกลไกการป้องกันตัวที่บังตา "ไทป์สอง" ไว้ไม่เห็นว่าพฤติกรรมของตัวแท้จริงแล้ว ห่างไกลจากภาพลักษณ์ที่ตนเข้าใจนัก พวกเขาตีความการกระทำของเขาออกมาในทางดีได้หมด พวกเขารู้สึกอย่างชัดเจนว่าตัวเองมีแต่ความปรารถนาดี พวกเขาหลอกใช้คนได้อย่างไม่รู้สึกอะไร พวกเขามีเหตุผลให้ตัวเองเสมอ พวกเขาไม่มีวันรู้สึกผิด และคิดว่าคนอื่นต่างหากที่หาความลำบากมาให้ พวกเขาเป็นแค่เหยื่อที่น่าสงสาร พวกเขาเกาะเกี่ยวกับคนอื่นทางจิตใจแบบหมากัดไม่ปล่อย ไม่ว่าความรู้สึกที่เหลืออยู่จะเป็นความรู้สึกที่เลวร้ายขนาดไหนก็ตาม พวกเขาไม่เหลือคราบของคนที่มีความสุข คนรอบข้างก็ต้องเจ็บปวดด้วย

ระดับแปด "จอมบงการชีวิต"

พวกเขาต้องการความรักจากคนอื่น และคิดว่าพวกเขามีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะได้รับสิ่งที่ต้องการ ทุกคนในโลกนี้เป็นหนี้ชีวิตพวกเขา เพราะความเสียสละที่พวกเขาได้ทำลงไปแล้วในอดีต พวกเขากลัวที่จะไม่ได้รับรักมากเสียจนกลายเป็นคนที่ยากที่ใครจะอยู่ร่วมได้ ในระดับนี้ พวกเขาเริ่มกดเก็บความต้องการไว้ไม่อยู่ และเบื่อหน่ายกับการเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว พวกเขายืนกรานที่จะให้ความต้องการของตนมาก่อนคนอื่น พวกเขาเผยอัตตาออกมา และเรียกร้องทุกสิ่งทุกอย่างคืนเป็นการตอบแทน

พวกเขาตามล่าความรักจากทุกแหล่ง โดยมากแล้ว "ไทป์สอง" ในระดับนี้เคยผ่านประสบการณ์ทารุณย์มาในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางเพศ หรือทางอารมณ์ พวกเขาจะไม่รู้จักความรักที่แท้จริงแม้ว่าจะเผอิญได้เจอเข้า พวกเขาแสวงหาความสัมพันธ์แบบเดียวกับที่เคยมีกับผู้ปกป้องในอดีต ไม่ว่าจะเป็น การถูกทารุณกรรม การถูกทอดทิ้ง หรือการใช้ความรุนแรง พวกเขาอาจมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ การทำลาย และการปลดเปลื้องทางเพศ

พวกเขาระเบิดความโกรธที่ได้กดเก็บไว้ออกมาด้วย แต่ก็ยังสงวนไว้กับใครบางคนที่ตนรักมาก ความก้าวร้าวของพวกเขาถูกปลดปล่อยออกมาในรูปแบบของการทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยค่าในนามของความรัก พวกเขาพูดไม่ดีต่อคนอื่นทั้งต่อหน้า และลับหลัง และพยายามสำเร็จโทษคนอื่นด้วยการเลิกรักคนนั้น "เอาสิ ต่อไปนี้ลองดูว่าถ้าไม่มีฉันแล้วจะเป็นอย่างไร" และพยายามทำนายว่าคน ๆนั้นต้องไปไม่รอดแน่ถ้าไม่มีเขา พวกเขาไม่รู้สึกผิดว่าตัวเองชอบพูดทวงบุญคุณ เพราะเอาความรักมาเป็นข้ออ้าง พวกเขาจะทวงบุญคุณ และต่อว่าว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับกลับมาเป็นความขมขื่น

การพูดหักหาญกำลังใจคนอื่นอาจเรียกร้องความสนใจให้กลับมาได้ แต่มันเป็นความสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ความโกรธ แต่นั้นไม่ได้ทำให้พวกเขาหยุด เพราะพวกเขาจะยิ่งบอกว่า ตนทำแต่ความดี แต่ดูสิคนอื่นกลับทำกับพวกเขาแบบนี้

พวกเขาต้องการความรักเสียจน พยายามบังคับคนอื่นให้รักตน อาจเป็นการเลี้ยงต้อย หรืออาจมีอาชีพอย่าง ครู พระ คนเลี้ยงเด็ก หรือพยาบาล อาชีพเหล่านี้สังคมเทิดทูนและไม่ระแวง เมื่ออยู่ในระดับนี้ พวกเขาจะใช้ข้อนี้เป็นโอกาสในการข่มขืนเด็ก หรือแสวงหารักในรูปแบบต่าง ๆจากเด็ก เพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์และทางเพศ เพราะโหยหาความผูกผันใกล้ชิดกับคนอื่น พวกเขาใช้ความไม่มีทางสู้ของเด็กเป็นเครื่องมือ พวกเขาชอบเด็กเพราะเด็กช่วยตัวเองไม่ได้ พวกเขาจะปลอบประโลมเด็กทุกคนที่พวกเขาทำให้หวาดกลัว ทำตัวเป็นพ่อพระสลับกับคนใจบาป

ระดับเก้า "เหยื่อทางใจ"

ถ้าขอความรักแล้วไม่ได้ผล พวกเขาเปลี่ยนวิธี ความเจ็บป่วยทางกายดูเหมือนจะได้ผล การช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บังคับคนอื่นให้ต้องการมาดูแลตน แม้ว่าการมาดูแลไม่ใช่การรัก แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย จิตใต้สำนึกของพวกเขาจะพยายามทำให้พวกเขาสูญเสียความสามารถทางกายภาพ เพราะมันช่วยทำให้พวกเขาสะใจกับสิ่งที่พยายามพร่ำบอกคนอื่นมาตลอดชีวิต "ฉันไม่เคยเห็นแก่ตัว ฉันตกเป็นเหยื่อของคนอื่นมาตลอด ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะคนอื่น"

superego ของเขาเป็นพิษ และปราศจากความเมตตาต่อตัวเขา และทำให้ "ไทป์สอง" ไม่มีทางออกทางอื่นที่จะหาความรักมาได้นอกจากการกลายเป็นคนเจ็บ มันเป็นอาการที่เป็นมาจากอาการฮิสทีเรียซึ่งแปรเปลี่ยนความวิตกกังวลให้กลายเป็นความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายได้ ซึ่งโรคที่เป็นก็มักเป็นโรคที่มีผลมาจากความเครียด พวกเขามักป่วยบ่อยจน ทุกคนสังเกตออกว่า "ไทป์สอง" รู้สึกเป็นสุขกับการได้เจ็บป่วย แท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้แกล้งป่วย แต่กำลังเอาประโยชน์จากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจริง มันเป็นเสมือนการประท้วงคนที่ไม่ยอมรับรักของ "ไทป์สอง" มันเป็นวิธีการที่จะได้รับความเอาใจใส่จากคนเหล่านั้นอย่างยาวนาน

พัฒนาการ

จาก "ไทป์สอง" ไปสู่ "ไทป์แปด"

ในระดับสี่ "ไทป์สอง" ตอบสนองต่อความเครียดด้วยการเข้าสู่ "ไทป์แปด" เพราะ พวกเขาเป็นพวกกดเก็บความก้าวร้าว การเข้าสู่ "ไทป์แปด" เป็นทางระบายความก้าวร้าวออกในเวลาที่ กลไกการป้องกันตัวตามปกติไม่ทำงาน พวกเขาจะเริ่มกลายเป็นคนยอมหักไม่ยอมงอ ใจกล้า โผงผาง และถึงพริกถึงขิงมากกว่าเดิม พวกเขาจะทำงานหนักมากขึ้น ทุ่มเททุกอย่างมากกว่าเดิม

ในระดับห้า พวกเขาเข้าสู่ "ไทป์แปด" เพื่อเรียกร้องความสำคัญ พวกเขาจะโอ้อวด ทำวางเขื่อง

ในระดับหก เมื่อความปรารถนาดีใช้ไม่ได้ผล พวกเขาจะแสดงความก้าวร้าวของ "ไทป์แปด" ออกมา พวกเขาจะพูดทำลายความมั่นใจของคนอื่น เพื่อโน้มน้าวให้รับเอาความคุ้มครองของเขาไว้ ภาพของนักบุญหายไปกลายเป็นความโกรธ และความแค้น โดยที่พวกเขาจะมีเหตุผลอธิบายพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างดี หรือทำลืมเสีย ในขณะที่คนอื่นยากที่จะลืม

ในระดับเจ็ด การเข้าสู่ "ไทป์แปด" แสดงถึงความไม่สามารถกดเก็บความโกรธได้อีกต่อไปแล้ว พวกเขาอาจถึงกับลงไม้ลงมือ กรีดร้อง และทำอันตรายคนที่ทำให้ไม่สมใจ

ในระดับแปด พวกเขาควบคุมความต้องการของตัวเองไม่ได้ พวกเขาป่าเถื่อน และไล่ล่าคนที่ปฏิเสธพวกเขา ปัญหาของเขาคือ การที่ไม่มีสติตื่นรู้ความก้าวร้าวของตัวเอง

ในระดับเก้า ความเจ็บป่วยทางกายขัดขวางพวกเขาไม่ให้ทำร้ายคนอื่น แต่สภาพแบบนี้อยู่ได้ไม่ตลอดไป เมื่อพวกเขาหายดี พวกเขาก็จะเริ่มเข้าสู่ "ไทป์แปด" และระเบิดอารมณ์ใส่คนอื่นอีก และเนื่องด้วยพวกเขาอยู่ในระดับเสื่อม พวกเขาจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือจัดการกับความก้าวร้าวอย่างถูกต้อง การเข้าสู่ "ไทป์แปด" เป็นการแก้แค้นคนที่ไม่รับรักตน ความรักกลับกลายเป็นความเกลียด และนำไปสู่ความรุนแรงและการทำลายล้างในเวลาต่อมา แม้แต่การฆาตกรรมก็อาจเกิดขึ้นได้ในระดับนี้ คนในครอบครัวเป็นกลุ่มที่เสี่ยงภัยที่สุด

จาก "ไทป์สอง" ไปสู่ "ไทป์สี่"

การเข้าสู่ "ไทป์สี่" ทำให้ "ไทป์สอง" ตระหนักถึงความรู้สึกของตัวเอง โดยเฉพาะความรู้สึกที่ก้าวร้าว พวกเขาจะเริ่มรู้จักตัวเองอย่างที่ตัวเองเป็น เลิกปฏิเสธที่จะเห็นตัวเอง และแรงขับของสัญชาตญาณที่ตนมี ไปสู่ความสว่าง

ในระดับดี พวกเขายอมรับความรู้สึกในแง่ลบของตนพอ ๆกับความรู้สึกในแง่บวก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะนำมาปฏิบัติ พวกเขาเพียงแต่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และยอมรับว่ามันมีอยู่ เป็นการยอมรับตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข ทำให้พวกเขาเริ่มเข้าถึงความต้องการของคนอื่นได้ด้วยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาจะได้รับความรักจากคนอื่น ไม่ใช่เพราะพวกเขาทำดีกับคนอื่น แต่คนอื่น ๆรักเขาอย่างที่เขาเป็น

อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาจากการเข้าสู่ "ไทป์สี่" ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ พวกเขามีความเป็นปุถุชนมากขึ้น สิ่งที่พวกเขาให้กับคนอื่นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์จริง ๆเพราะ พวกเขาจริงกับตัวเอง อย่างที่ตัวเองเป็น

ไทป์ย่อย

"ไทป์สองปนหนึ่ง - คนรับใช้"

ทั้ง "ไทป์สอง" และ "ไทป์หนึ่ง" ล้วนถูกตีกรอบด้วย superego ดังนั้น ถ้าจะประเสริฐ "ไทป์สองปนหนึ่ง" ก็จะประเสริฐมาก ในขณะเดียวกัน "ไทป์สอง" กับ "ไทป์หนึ่ง" ก็มีบางอย่างที่ขัดแย้งกันอยู่ "ไทป์สอง" ใช้ความรู้สึก ลำเอียง เหนือจริง แต่ "ไทป์หนึ่ง" ใช้เหตุผล ไม่ลำเอียง และควบคุมตัวเอง "ไทป์สองปนหนึ่ง" จึงเข้มงวดต่อหน้าที่ที่ตนอุทิศให้คนอื่น และพูดน้อยกว่า "ไทป์สองปนสาม" และทำให้"ไทป์สองปนหนึ่ง" ดูคล้าย Six พวกเขามีอุดมการณ์ที่จะปฏิบัติต่อทุกอย่างอย่างเป็นธรรม และบ่อยครั้งที่หลักการขัดแย้งกับเรื่องของหัวใจ

ตัวอย่างบุคคล ได้แก่ Mother Teresa, Eleanor Roosevelt, Archbishop Desmond Tutu, Danny Thomas, Alan Alda, Ann Landers, Florence Nightingale, Lewis Carroll, " Melanie Hamilton Wilkes," "Jean Brodie"

ในระดับดี พวกทำประโยชน์ให้คนอื่นได้หลายอย่าง อาจเป็นเพราะ "ไทป์หนึ่ง"-wing พวกเขาให้ความรู้ ทำชีวิตให้ดีขึ้น และมักเป็นผู้ก่อตั้ง หรือเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิ พวกเขามีจิตใจบริการ โดยไม่หวังผลตอบแทน และปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์มากกว่า "ไทป์สองปนสาม" พวกเขาจริงจังต่อเป้าหมาย เป็นครูที่ดี เพราะให้ข้อเท็จจริง และให้ความอบอุ่นทางใจแก่เด็ก พวกเขาให้กำลังใจ และชื่นชมคนอื่น พวกเขาค่อนข้างใช้ชีวิตตามอัตภาพ และเน้นประโยชน์ใช้สอย แทนที่จะทำอะไรเกินตัวอย่าง "ไทป์สองปนสาม"

ในระดับปานกลาง พวกเขามีความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ กับความรู้สึกส่วนตัว เพราะการเห็นอกเห็นใจคนอื่นของ "ไทป์สอง" ค่อนข้างขัดแย้งกับหลักการของ "ไทป์หนึ่ง" พวกเขามีใจที่จะบริการคนอื่น และไม่กล้าปฏิเสธคน แต่บางทีก็มีแนวโน้มที่จะชอบบังคับคนอื่น และตัวเอง พวกเขาไม่ถนัดที่จะเรียกร้องความสนใจ และชอบปิดทองหลังพระ แต่ความเป็น "ไทป์สอง" ก็ยังทำให้ลึก ๆแล้วอยากเป็นคนสำคัญในชีวิตของคนอื่น พวกเขารู้สึกผิดและตำหนิตัวเองบ่อยกว่า "ไทป์สองปนสาม" มักวิจารณ์ตัวเองที่ไม่สามารถบรรลุมาตรฐานได้ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีมากพอ และไม่ค่อยกล้าเรียกร้องเท่า "ไทป์สองปนสาม"

ในระดับเสื่อม พวกเขาไม่ยืดหยุ่น ในสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้ผสมผสานกับการหลอกตัวเอง และแรงปรารถนาที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองมีค่า ทำให้กลายเป็นคนหัวแข็งอย่างร้ายกาจ ติคนอื่นเก่ง แต่ไม่ยอมติตัวเอง ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด หรือเห็นแก่ตัว และปฏิเสธความรู้สึกก้าวร้าวของตัวเอง มักมีอาการ ไฮโปคอนเดีย และจิตสลาย พวกเขาหมกหมุ่นอยู่กับร่างกายของตัวเอง

"ไทป์สองปนสาม - เจ้าบ้าน"

"ไทป์สอง" กับ "ไทป์สาม" มีส่วนที่ส่งเสริมกัน ทั้งสองไทป์ล้วนแล้วแต่เก่งคน "ไทป์สาม" สร้างเสน่ห์ให้กับ "ไทป์สอง" ทำให้เป็นคนมีบุคลิก และปรับตัวได้ดี พวกเขาจึงแสวงหารักด้วยการสร้างความผูกพันใกล้ชิด ล่อลวงเก่ง พวกเขาเอาชนะใจคนด้วยความมีเสน่ห์ และความสง่างามทางสังคม พวกเขาให้ความสำคัญการ เรื่องของความสัมพันธ์มาก เพราะ "ไทป์สาม" ต้องการการยอมรับ ส่วน "ไทป์สอง" ต้องการการชื่นชม และความสนิทสนม

ตัวอย่างบุคคล Luciano Pavarotti, Barbara Bush, Barry Manilow, Richard Simmons, Sammy Davis, Jr., Leo Buscaglia, Kathy Bates, Doug Henning, Tommy Tune, John Denver, Pat Boone, Lillian Carter

ในระดับดี พวกเขามีเสน่ห์ เป็นมิตร และเฮไหนเฮนั้น พวกเขามีความสุขกับการเป็นจุดสนใจ มั่นใจ และใช้ชีวิตอย่างมีสวัสดิภาพ พวกเขามีอิสระเสรี และเจ้าสำราญจนดูคล้าย "ไทป์เจ็ด" พวกเขามีความอบอุ่นที่จริงใจอยู่ในตัว และสามารถสื่อสารไปยังคนอื่นได้ การให้ของพวกเขาดูไม่เกินงาม พวกเขายินดีที่จะแบ่งปัน ความสามารถส่วนตัวให้คนอื่น ไม่ว่าจะเป็น การทำอาหาร การเต้น การร้องเพลง การฟัง ฯลฯ พวกเขาเป็นเสมือนผู้ให้ของขวัญ มากกว่าที่จะเป็นคนใช้ พวกเขาห่วงคุณภาพชีวิตของสังคมมากกว่าเรื่องศีลธรรม

ในระดับปานกลาง "ไทป์สองปนสาม" ต้องการแสดงตนในภาพลักษณ์ของคนที่อบอุ่น และเป็นมิตร พวกเขาอยากเป็นคนพิเศษที่ทุกคนปรารถนา พวกเขาวัดผลตัวเองจากการตอบสนองของคนอื่นที่มีต่อตน พวกเขาจะวัดว่าตัวเองเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปขนาดไหน โดยเฉพาะในเรื่องของความมีเสน่ห์ทางร่างกาย หรือความเซ็กซี่ พวกเขาทำงานหนัก และคาดหวังผลสำเร็จ ความห่วงภาพพจน์ของ "ไทป์สาม" ปรากฏออกมาในรูปของการทำตัวเป็นมิตรจนเกินเหตุ พวกเขาพยายามทำตัวน่ารัก และอารมณ์อ่อนไหวเกินจริง พวกเขาชอบยอคน และชอบนินทา ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก แต่ก็มักเป็นสาเหตุให้เพื่อน ๆที่สนิทสนมมาก ๆเลิกคบ พวกเขาอ่อนไหวกับสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับตัวเขามาก พวกเขามีอาการหลงตัวเอง "ไทป์สาม" ช่วยทำให้ "ไทป์สอง" แสดงความต้องการของตัวเองอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น พวกเขากลัวการขายหน้ามากกว่าการรู้สึกผิดที่ละเมิดอุดมการณ์ของตัวเอง

ในระดับเสื่อม พวกเขาหลอกทั้งตนเองและคนอื่น ชอบฉวยโอกาส พวกเขาเกลียดคนที่เป็นศัตรูอย่างรุนแรง พวกเขามีแนวโน้มที่จะทำลายสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถมีได้ โดยเฉพาะทำร้ายความสัมพันธ์ของคนอื่น พวกเขาอาจทำพิศวาสฆาตกรรม

บทส่งท้าย

ปัญหาของ "ไทป์สอง" คือการทุ่มเทให้กับรักมากเกินไป เมื่อไม่ได้ก็เสียใจมาก ในระดับเสื่อมพวกเขาทำสิ่งตรงกันข้ามกับความต้องการของตัวเอง พวกเขาอยากจะถูกรัก แต่กลับเกลียดคนอื่น คนเพียงกลุ่มเดียวที่สนใจจะมาปรนนิบัติ "ไทป์สอง" ในระดับเสื่อมก็คือ "ไทป์สอง" คนอื่น ๆ ซึ่งต้องการที่จะหลอกใช้คน และยัดเยียดความปรารถนาดีให้กับคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว ผลก็คือโศกนาฏกรรม

"ไทป์สอง" อาจจะถูกที่ให้คุณค่ากับความรัก แต่ผิดที่การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก แน่นอนพวกเขาย่อมต้องผิดหวัง เมื่อใดที่มีอัตตาแอบแฝงมาในความรัก มันย่อมเป็นรักไม่แท้ ซึ่งผลก็คือสิ่งที่เราได้เห็นในบุคลิกภาพของ "ไทป์สอง"

No comments: